Tuesday, March 19, 2024

ศูนย์รวมน้ำใจ (หลวงปู่นวลฯ)

ประวัติหลวงปู่นวล
พระครูโพธิสารคุณ  (นวล ธมฺมธโร)

พระครูโพธิสารคุณ  (นวล ธมฺมธโร)  สกุลเดิม สุดใจแจ่ม  เกิดวันที่ ๒๖ กรกฎาคม   พ.ศ. ๒๔๓๒ ต.บางขันแตก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่  ๘  ในจำนวน  ๑๐  คน  ของนายพลู นางทรัพย์ สุดใจแจ่ม   เมื่อเยาว์วัยเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพ ฯ ได้เข้ารับราชการทหารจนมียศเป็นนายดาบ  ผู้บังคับหมวดทหารปืนใหญ่ที่  ๑  รักษาพระองค์  ในปีพ.ศ.๒๔๗๑  ท่านลงป่วยลง  จึงไปขอรับการรักษาจากหลวงปู่ปาน  วัดบางนมโค  อ.เสนา  จ.อยุธยา  จนหายขาด  และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาพุทธศาสตร์และพุทธาคม  ต่อมาได้ลาออกจากราชการและอุปสมบทที่วัดโพธิ์บางระมาด  เมื่อ  ๑๙  กรกฎาคม  ๒๔๗๔ มีพระครูภาวนาภิรมย์  (พลอย)  เจ้าอาวาสวัดรัชฏาธิษฐาน  (วัดเงินบางพรม) เป็นพระอุปัชฌาจารย์ พระอาจารย์นิ่ม  พุทฺธสโร วัดโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการผาด ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดทอง (บางระมาด)  เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมธโร”

หลวงปู่นวลได้เอาใจใส่ต่อการศึกษาทางสมณเพศด้วยความวิริยะอุตสาหะ  จนสอบประโยคนักธรรม  ตรี-โท-เอกได้ในสนามหลวง  สำนักเรียนวัดกาญจนสิงหาสน์  (วัดทองบางพรม)  ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ , ๒๔๘๓ และ ๒๔๘๗ ตามลำดับ  หลวงปู่มั่นคงอยู่ในพรหมวิหารธรรม มีเมตตาสงเคราะห์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า  ได้ปรุงยาตามตำรับที่เล่าเรียนจากหลวงปู่ปาน  รักษาโรคภัยต่างๆ  จนได้จัดสร้างสถานีอนามัยชั้น ๒ ขึ้นในบริเวณวัด ด้วยทุนทรัพย์ ของท่าน  และบอกเรี่ยไรจากผู้มีจิตศรัทธา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘  ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพธิ์  และได้เป็นเจ้าอาวาสในปี  พ.ศ. ๒๔๘๒  หลวงปู่ได้ได้ตั้งสำนักศาสนศึกษาทั้งธรรมและบาลีขึ้น  ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒  เพื่อให้พระภิกษุสามเณรในปกครอง  และวัดใกล้เคียงได้รับความสะดวกในการศึกษาพระปริยัติธรรมโดยเป็นผู้อบรม             สั่งสอนด้วยตนเอง  ในปี  พ.ศ. ๒๔๘๔  ได้เปิดสอนบาลีโดยขอครูบาลีจากท่านเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี  วัดอนงคาราม เจ้าคณะอำเภอตลิ่งชัน มาสอน มีพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนตามหลักสูตรของสนามหลวง สอบไล่ได้เป็นเปรียญ  ๓  รูป ใน พ.ศ. ๒๔๘๘  ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง

สำหรับการบำรุงการศึกษาในทางโลก  หลวงปู่เป็นผู้อุปการะโรงเรียนประชาบาล  ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัด  และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการศึกษา  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓  ต่อมา  พ.ศ. ๒๔๙๙  ท่านได้จัดหาที่ดินจากผู้ศรัทธาบริจาคให้ซึ่งอยู่ติดกับวัดจำนวน  ๔  ไร่  ๒  งาน จัดสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษา  คือ โรงเรียน “โพธิสารพิทยากร” ในปัจจุบัน

ทางด้านสมณศักดิ์นั้น  หลวงปู่ได้รับตามวาระดังนี้

พ.ศ.๒๔๘๒  –  เป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรม   พระมงคลเทพมุนี  วัดอนงคาราม , เจ้าคณะอำเภอตลิ่งชัน  จ.ธนบุรี

พ.ศ.๒๔๘๓  – เป็นพระครูสังฆรักษ์ ในฐานานุกรมเดิม

พ.ศ.๒๔๙๖  – ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี  , เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (วัดโพธิ์) ที่พระครูโพธิสารคุณ

พ.ศ.๒๕๐๗  – ได้เลื่อนสมณศักดิเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (วัดโพธิ์) ในราชทินนามเดิม

จนเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๐๙  ท่านได้เดินทางไปจังหวัดจันทบุรีกับสามเณรผู้เป็นศิษย์  ๑  รูป  เพื่อนมัสการปูชนียวัตถุมงคลและชมโบราณสถาน  ได้ไปพักที่บ้านศิษย์ของท่านผู้หนึ่ง  ที่ตำบลบางกะจะ  อำเภอเมือง  จังหวัดจันทบุรี  และท่านได้ถึงมรณภาพด้วยโรคปัจจุบันทันด่วน  (หัวใจวาย)  ที่บ้านของศิษย์ผู้นั้น  เมื่อวันที่  ๙  เมษายน  พ.ศ. ๒๕๐๙  ศิริอายุ  ๗๗  ปี  พรรษา  ๓๖  เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดโพธิ์  ๓๑  ปี