Tuesday, March 19, 2024

ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนโพธิสารพิทยากร

เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแบบสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1  ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 120 (เดิมเลขที่ 14/2 หมู่ 2)  ถนนพุทธมณฑล  สาย  1  แขวงบางระมาด  เขตตลิ่งชัน  กรุงเทพฯ   10170   โทรศัพท์  0-2448-6130 , 0 –2448-6931 เปิดสอนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย  ตั้งอยู่บนที่ดินของนายผัน และ นางสอิ้ง  ไทรพุฒทอง  และที่ดินของวัดโพธิ์   ซึ่งบริจาคและยอมให้ใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งโรงเรียน  รวมเนื้อที่  ทั้งหมดประมาณ  6 ไร่  2 งาน 40 ตารางวา  ในครั้งแรกเปิดทำการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2499  โดยท่านพระครูโพธิสารคุณ (นวล ธมฺมธโร) หรือหลวงปู่นวล  เจ้าอาวาสวัดโพธิ์สมัยนั้น  เป็นผู้ริเริ่มโดยเรียนที่ศาลาวัดริมคลองบางระมาด  ต่อมาได้บอกบุญเรี่ยไรจากชุมชน ประกอบกับเงินงบประมาณของทางราชการเพื่อสร้างอาคารไม้แบบอุดร 2 ชั้น ขนาด  12  ห้องเรียน  จนสามารถเป็นสถานที่ประกอบการเรียนการสอนได้สมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2501

          ในปีงบประมาณ 2525 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 318 ค.  เป็นอาคารตึก  3   ชั้น  18  ห้องเรียนขึ้นอีก  1  หลัง   ต่อมาในปีงบประมาณ 2526   ได้รับงบประมาณสร้างโรงฝึกงานแบบมาตรฐานขนาด 2 หน่วย 1 หลัง บ่อน้ำบาดาล 1 บ่อ ห้องน้ำห้องส้วม 2 หลัง   สำหรับอาคารไม้  2 ชั้นนั้นชำรุดทรุดโทรมลงมาก ทางโรงเรียนจึงได้ขออนุมัติทำการรื้อถอนเพื่อจะได้เสนอของบประมาณสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ทดแทนต่อไป

           ปีการศึกษา  2527-2529  กรมสามัญศึกษาได้จัดให้โรงเรียนเข้าโครงการปรับปรุงโรงเรียนมัธยมศึกษา  ขนาดเล็ก  ( คปล. ) เป็นโรงเรียนในส่วนกลางโรงเรียนเดียวที่เข้าโครงการนี้      ซึ่งมีโรงเรียนทั่วประเทศ  240  โรงเรียน  โดยกรมสามัญศึกษาได้คัดโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย  เพื่อจะปรับปรุงใน  3  ด้าน   คือ
1.  ด้านตัวป้อนคือนักเรียน    กรมสามัญศึกษาให้ความช่วยเหลือโดยการ
–  ยกเว้น  บ.กศ. 50%
–  ให้หนังสือเรียน ยืมเรียนฟรี
–  ให้ชุดนักเรียน
–  จัดที่พักให้แก่นักเรียนที่อยู่ห่างไกล
2.  ด้านบุคลากร     กรมสามัญศึกษาจัดบุคลากรให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาโดยใช้สูตร 2X + 2 ( X คือ จำนวนห้องเรียน)  ในการจัดสรรอัตราครูให้แก่โรงเรียนในโครงการ
3.  ด้านอาคารสถานที่   กรมสามัญศึกษาจัดงบประมาณช่วยปรับปรุงบริเวณอาคารสถานที่ให้เหมาะแก่การจัดการเรียนการสอนทัดเทียมกับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ แก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าและประปาในโรงเรียน  ผลปรากฏว่าโรงเรียนโพธิสารพิทยากรก็ยังมีนักเรียนเข้าเรียนน้อย   ไม่สามารถพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายได้  ในขณะนั้นมีเพียง  6  ห้องเรียนเท่านั้น

          ปีการศึกษา  2529  กรมสามัญศึกษาจึงเห็นชอบให้ทำ “ โครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษาทางด้านวิชาการ ”  โดยมี  3  โรงเรียนเข้ามาช่วยโรงเรียนโพธิสารพิทยากร  คือ
1.  โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  รับผิดชอบหมวดวิชาวิทยาศาสตร์  ภาษาไทย  พลานามัย  และช่วยปรับปรุงห้องสมุด
2.  โรงเรียนสตรีวิทยา  รับผิดชอบหมวดวิชาภาษาอังกฤษ สังคมศึกษาคณิตศาสตร์ และงานแนะแนว
3.  โรงเรียนวัดน้อยใน   รับผิดชอบหมวดวิชาศิลปศึกษา การงานอาชีพและอาคารสถานที่  โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนสตรีวิทยา  จะรับนักเรียนให้เรียนต่อชั้น ม.4  ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและสตรีวิทยา  โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก  แต่พิจารณาผลการเรียนใน              6 หมวดวิชา คือ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย พลานามัย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และคณิตศาสตร์ เมื่อได้คะแนนสะสมเฉลี่ย 5 ภาคเรียน 2.50 ขึ้นไป และความประพฤติดี โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปีการศึกษา 2530 ปรากฏว่า สามารถรับนักเรียนได้เกินแผนที่กำหนดไว้และจัดแผนชั้นเรียนเป็น 5-2-2 จำนวนนักเรียน 325 คน

           ปีการศึกษา  2531  รับนักเรียนได้เกินแผนโดยจัดแผนชั้นเรียนเป็น 7-5-2 จำนวนนักเรียน 563  คน

           ปีการศึกษา  2532  สร้างอาคารเรียนชั่วคราว 4 ห้อง เต็นท์ 4 หลัง อาคารมุงจาก 1 หลัง เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รื้อถอนอาคารไม้ 2 ชั้น แบบอุดร เพื่อเตรียมใช้เป็นสถานที่สร้างอาคารเรียนแบบพิเศษแทน

           ปีการศึกษา  2533  ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ 6 ชั้น เป็นเงินงบประมาณ 7,199,000 บาท แต่ไม่มีผู้มาประมูล จึงต้องทำการเปลี่ยนแปลงราคาใหม่ ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสัมมิทก่อสร้างประมูลได้ในราคา 11,450,000 บาท และผูกพันในปีงบประมาณ 2535-2538  จำนวน 19 ล้านบาท เพื่อให้อาคารหลังนี้มีทั้งห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ  โรงฝึกงาน และสามารถใช้เป็นห้องประชุมได้ ชั้นบนเป็นดาดฟ้า มีลิฟต์ติดตั้ง 2 ตัว ในปีการศึกษานี้  อยู่ในระหว่างการก่อสร้างต่อได้รับงบประมาณตามโครงการพัฒนาชนบทและชุมชน ตามข้อเสนอของสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร  กรุงเทพมหานคร  ประจำปีงบประมาณ 2533  สร้างศาลาประชาสัมพันธ์ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร

            ปีการศึกษา  2534  เนื่องจากความจำเป็นในเรื่องห้องเรียน จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น เป็น  1,338 คน ดังนั้นทางโรงเรียนจึงต้องใช้สนามฟุตบอลของโรงเรียนมาทำการก่อสร้างอาคาร หลังคาจาก  2 หลังและเพื่อให้นักเรียนไม่ต้องผจญกับความร้อนของอากาศ จึงเปลี่ยนอาคารเต็นท์ 5 หลัง มาเป็นอาคารจากหลังที่ 4 รวมมีอาคารจากทั้งสิ้น   6   ชุด  17  ห้องเรียน  และยังต้องใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เรียนอีกส่วนหนึ่งด้วยได้รับอนุมัติให้สร้างห้องน้ำ-ห้องส้วมแบบมาตรฐานเป็นของ นักเรียนชาย

           ปีการศึกษา  2535   ได้รับอนุมัติให้สร้างห้องน้ำห้องส้วมแบบมาตรฐาน เป็นของนักเรียนหญิงและต่อเติมอาคารเรียนแบบพิเศษ 6 ชั้น จากปีงบประมาณ 2533 โดยได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 21 ล้านบาท ในปีการศึกษา  2536  ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อมกราคม 2537 เนื่องจากบริเวณสนามบาสเกตบอลมีน้ำท่วมขังทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ทำให้เกิดปัญหากับนักเรียนที่เรียนอยู่บริเวณอาคารหลังคาจาก คุณวรพันธ์-คุณกรรณิการ์ ปิณฑวณิช จากบริษัทพร้อมมิตรคอนกรีต จำกัดได้บริจาคเงินจำนวน 228,400 บาท เพื่อเทคอนกรีตถมสนามให้สูงขึ้น และได้ทำพิธีมอบให้โรงเรียน เมื่อวันที่  5  มีนาคม 2536 โดยท่านรองอธิบดี ฯ  สมหมาย เอมสมบัติ ( ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมสามัญศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา) เป็นประธานในพิธี  และโรงเรียนได้ตั้งชื่อสนามบาสเกตบอลว่า “ สนามหลวงพิลาศวรรณสาร ”

          ปีการศึกษา  2536  ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวแบบถอดประกอบได้ 6 หลัง 12 ห้องเรียน และได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ  6  ชั้น เต็มรูป เป็นหลังที่  2  จึงได้รื้ออาคารหลังคาจากออก

          ปีการศึกษา  2537  เนื่องจากอาคารเรียนแบบพิเศษ 6 ชั้น  หลังที่ 2  อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง  เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนที่ข้ามถนนมาจากอาคารชั่วคราวเกิดอุบัติเหตุ  โรงเรียนจึงย้ายอาคารชั่วคราวมาสร้างหลังอาคารเรียนแบบพิเศษ 6 ชั้น หลังที่ 1 จำนวน 2 หลัง 4 ห้องเรียน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างอาคารหลังที่ 3 จำนวน 12 ห้องเรียน ไว้กลางสนามตามเดิม เพื่อใช้เป็นที่เรียนของนักเรียน  อาคารแบบพิเศษ 6 ชั้น   ก่อสร้างเสร็จสิ้นเต็มรูปในเดือนมีนาคม ดังนั้น ในปีการศึกษา 2538  โรงเรียน จึงมีอาคารเรียนแบบพิเศษ 6 ชั้น 2 หลัง อาคารเรียน 3 ชั้น 1 หลัง ซึ่งเพียงพอต่อการให้บริการทางการเรียนการสอน

         ปีการศึกษา  2538-2539  โรงเรียนก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์  5  ชั้น 1 หลัง  ด้วยพื้นที่ของโรงเรียนมีจำกัด   อาคารนี้จึงต้องสร้างบริเวณกลางสนาม  (อาคารหลังคาจากเดิม)  โดยเชื่อมต่อกับอาคารแบบพิเศษ 6 ชั้น สร้างเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2539

         ปีการศึกษา  2540  ปรับภูมิทัศน์โรงเรียน  โดยการจัดสวนหย่อมบริเวณซุ้มหลวงปู่นวล  หน้าอาคารกาญจนาภิเษก  ห้องน้ำ  และสนับสนุนให้ครูและนักเรียนจัดสวนหย่อมภายในห้องเรียน   ปลูกต้นพญาสัตบรรณหน้าโรงเรียน  และปลูกต้นปาล์มบริเวณที่เข้าแถวเคารพธงชาติ

          ปีการศึกษา  2541  สร้างศาลาที่พักผู้โดยสารและโรงจอดรถหน้าโรงเรียน  จัดทำสวนหย่อมหน้าอาคาร  2  และปรับปรุงพื้นสนามลานเอนกประสงค์หน้าเสาธง

          ปีการศึกษา  2542  สร้างเรือนเพาะชำ  จัดทำสวนป่าหลังอาคาร 2 จัดทำห้องศูนย์วิทยบริการ   ปรับปรุงพื้นห้องเรียนและห้องสำนักงาน  โดยเปลี่ยนเป็นพื้นกระเบื้องทั้งหมด

          ปีการศึกษา  2543  สร้างอาคารเรือนพยาบาลร่มโพธิ์  สร้างโรงผลิตน้ำดื่มชมพูพันธุ์ทิพย์ จัดทำรั้วหลังโรงเรียน  ทำน้ำพุบริเวณลานบาสเกตบอล   จัดสร้างห้องศูนย์วิชาต่าง ๆ  เช่น  คณิตศาสตร์  สังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และได้เข้าร่วมโครงการประหยัดพลังงานของกระทรวง วิทยาศาสตร์  โดยเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศของเดิม  จำนวน   42   เครื่อง   เป็นเครื่องปรับอากาศเบอร์  5  และเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าให้เป็นหลอดไฟฟ้าชนิดประหยัดพลังงาน   โดยใช้บัลลาสอิเลคทรอนิคส์   จำนวน   1500  V.

         ปีการศึกษา 2544  สร้างลานโพธิ์พุฒิภิรม  ทาสีพื้นสนามลานอเนกประสงค์  จัดทำห้องศูนย์วัฒนธรรมไทย  และห้องศูนย์วิชาภาษาญี่ปุ่น

         ปีการศึกษา  2545  เป็นโรงเรียนแกนนำการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ในระดับชั้น ม.1 และ ม.4  ปรับปรุงโรงอาหารให้ได้มาตรฐานด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม  และสามารถให้บริการด้านโภชนาการแก่นักเรียนได้อย่างเพียงพอ  โดยดำเนินการก่อสร้างและขยายโรงอาหารบริเวณชั้นล่างอาคาร 3 (โพธิสารคุณ)  ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก  โรงเรียน ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากเงินบริจาค

         ปีการศึกษา 2546  จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ  โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ  (English  Program : EP.)  ระดับชั้น ม.1  จำนวน  2 ห้องจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาทุกรายวิชา  และวิชาคอมพิวเตอร์  (Mini  English  Program : M.E.P.)  ระดับชั้น ม.1  จำนวน 2 ห้อง  ม.4   จำนวน 1 ห้อง  ปรับปรุงทางเดินเท้าข้างอาคาร 38 ปี (โพธิสารคุณ) พื้นเวทีเสาธง  และเสาธงโรงเรียน  พื้นที่ของโรงเรียนมีปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณสนามและลานอเนกประสงค์โดยรอบในภาวะฝนตก เป็นอุปสรรคสำหรับนักเรียนในการใช้สนามเล่นเพื่อออกกำลังกาย  การจัดกิจกรรมสนับสนุนการเรียนการสอนและการสัญจรภายใน  โรงเรียนจึงได้ระดมทรัพยากรจากชุมชนโดยการรับบริจาค  จัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ  ดำเนินการปรับปรุงลานอเนกประสงค์โดยรอบโรงเรียน

         ปีการศึกษา 2547  ปรับปรุงต่อเติมดาดฟ้าอาคารไทรพุฒทอง เพื่อจัดทำห้องออกกำลังกาย  ห้องปิงปอง  ห้องยืดหยุ่น  โยคะ  และจัดทำห้องเรียนชั้น 2  จำนวน 4 ห้องเรียน

         ปีการศึกษา  2548  สร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์บริเวณหน้าเสาธง  และดำเนินการติดตั้งเครื่องระบายความร้อนระบบไอน้ำที่โรงยิม

          ปีการศึกษา  2549-2550  ปรับปรุงห้องเรียน E.P./M.E.P. ชั้น 5  ปรับปรุงห้องน้ำครู  ซ่อมแซมห้องน้ำนักเรียนชาย – หญิง ชั้น 1 อาคาร 3 ตลอดจนปรับปรุงพื้นโรงอาหาร  ซ่อมแซมผนัง โรงฝึกงานอุตสาหกรรม  และทาสีอาคาร 3

         ปีการศึกษา  2551-2556  ปูพื้นกระเบื้องและทาสีห้องเรียน 9 ห้องและปรุบปรุงห้องน้ำนักเรียน อาคาร 3 ปรับปรุงห้องน้ำครู อาคาร 1 ชั้น 2 และห้องน้ำระหว่างชั้น 4 – 5 อาคาร 3 ซ่อมแซมและทาสีพื้นสนามหลวงพิลาศวรรณสาร ติดตั้งตาข่ายป้องกันนกอาคาร 4 ปรับปรุงเรือนเพาะชำสำหรับเก็บของ ปรับปรุงระบบไฟฟ้าอาคารเรียน ปรับปรุงเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาโรงอาหารเป็นเมทัลชีท จัดทำโต๊ะอาหารนักเรียนพร้อมเก้าอี้สแตนเลส จำนวน 104 ชุด จัดทำฉากเวทีหน้าเสาธงใหม่ จัดซื้อที่ดิน 5 ไร่ 23 ตร.วาด้านหลังโรงเรียน และปรับหน้าดิน รื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าพร้อมปักเสาพาดสายรอบที่ดินหลังโรงเรียน ปรับปรุงห้อง To Be Number One เป็นห้องอาเซียน